
โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ
ยิ่งอายุมากขึ้นการดูแลสุขภาพก็ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากอายุที่มากขึ้นนั้นอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคบางอย่างได้ แต่การดูแลตัวเองผ่านโภชนาการ การออกกำลังกาย และการมองโลกในแง่บวกสามารถช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดีได้
ไม่ว่าจะวัยไหนสารอาหารทุกชนิดมีความสำคัญต่อสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตามในบางช่วงอายุความต้องการสารอาหารอาจเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นอยู่กับความต้องการของร่างกายและการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ บางอย่างที่ไม่เคยมีปัญหามาก่อนอาจเริ่มเกิดปัญหาได้ ซึ่งเรื่อง 3 เรื่องหลักที่ผู้สูงวัยควรให้ความสำคัญก็คือ สุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ข้อต่อ และดวงตา
เปลี่ยนจากการปล่อยให้ร่างกายโรยราไปตามอายุ มาเป็นการดูแลสุขภาพเชิงรุกและโฟกัสที่การดูแลสารอาหารเพื่อความเฮลท์ตี้กันดีกว่า!
CoQ10 – ตัวแม่ด้านหัวใจและหลอดเลือด
CoQ10 หรือโคเอนไซม์คิว 10 พบมากบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ การขาด CoQ10 จึงอาจทำให้เกิดความผิดปกติบางอย่างกับหัวใจและหลอดเลือดได้ แต่ที่เป็นปัญหาคือเมื่อเราอายุมากขึ้น ร่างกายกลับสร้าง CoQ10 น้อยลง ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องใส่ใจกับการบริโภค CoQ10 จากอาหาร รวมทั้งพิจารณาการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วย โดยอาหารที่มีสูง CoQ10 ได้แก่ เนื้อสัตว์และปลา รองลงมาก็จะเป็นบร็อกโคลี ผักโขม และถั่วเปลือกแข็ง
แคลเซียม – สารอาหารที่ดูแลมากกว่าแค่กระดูก
ร้อยละ 99 ของแคลเซียมที่ดูดซึมจะสะสมอยู่ในกระดูก และหลายคนก็คงทราบถึงประโยชน์ของแคลเซียมกันดีอยู่แล้วใช่ไหม? แต่รู้หรือไม่ว่าในอีกมุมหนึ่งการได้รับแคลเซียมที่เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันและดูแลโรคกระดูกพรุน และสิ่งที่หลายคนอาจยังไม่อาจไม่ทราบก็คือแคลเซียมนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพหัวใจ และการขาดแคลเซียมยังสัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูง (HBP) อีกด้วย
โดยแหล่งอาหารที่มีแคลเซียม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม เต้าหู้ ปลาพร้อมก้างปลา (โดยเฉพาะปลาซาร์ดีนและปลาแซลมอน) รวมถึงผักใบเขียว เช่น บร็อกโคลีและผักกวางตุ้ง